วันเสาร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2557

พุดเดิ้ล

สุนัข พุดเดิ้ล ได้ชื่อว่าเป็น สุนัข ที่มีความนิยมอันดับหนึ่งของโลก และขึ้นชื่อว่าฉลาด ฝึกง่าย สอนง่าย ขี้อ้อน และประจบเก่งเป็นที่สุด แถมยังอดทนไม่ขี้แย เลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นหมาที่เห่าไม่รู้เรื่อง ยิ่งในบ้านเรา พุดเดิ้ล สายพันธุ์นิยมเลี้ยงกันคือ พุดเดิ้ลทอย มันกลายเป็นหวานใจตัวจ้อยของหลายๆ ครอบครัว เพราะขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แถมยังมีลักษณะเป็นเหมือนเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต สดใสมีชีวิตชีวา มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบเสริมสวย ชอบเที่ยว และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้เร็ว
          พุดเดิ้ล (Poodle) มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่ไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆ เป็นประเทศเยอรมนีหรือประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศต่างนิยมเลี้ยง พุดเดิ้ล ไว้เพื่อใช้งาน "เก็บของในน้ำ" เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ "นกเป็ดน้ำ" ที่ชาวไร่ชาวนายิงได้

          ในประเทศเยอรมนี พุดเดิ้ล ถูกเรียกว่า "Pudel" หรือ "Pudelin" ซึ่งแปลว่า "กระโดดน้ำ" (สันนิษฐานกันว่าชื่อ Poodle ในภาษาอังกฤษที่เราเรียกกันนั้นก็น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า Pudel หรือ Pudelin ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พุดเดิ้ลเป็นที่นิยมอย่างสูงมากจนได้การยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติ ที่นี่...พวกมันมีฉายาว่า "Caniche" ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "chien canard" แปลว่า "สุนัขล่าเป็ด"

          และเนื่องจากถูกเลี้ยงไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งาน การตัดขนของ พุดเดิ้ล ในสมัยแรกๆ จึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำเป็นหลัก ไม่เน้นไปที่ความสวยงาม แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าฝรั่งเศสนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะนานาชนิด ในเวลาต่อมาการตัดแต่งทรงขนของ พุดเดิ้ล จึงได้เกิดการพัฒนาเป็นทรงต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ สุนัข พุดเดิ้ล น่าหลงใหลมากขึ้นเป็นทวีคูณ
 ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข พุดเดิ้ล

          พุดเดิ้ล ถูกจัดอยู่กลุ่ม สุนัข ที่ไม่ใช้ในเกมกีฬา (Non sporting Group) เป็นสุนัขประเภทสวยงาม ปากเรียวยาว ดวงตากลมโต หูห้อยลงมาปิดแก้ม ขนดกและหยิกชนิดติดหนัง ขนสั้นและเงางาม ขนค่อนข้างละเอียด เรียบ หยาบเล็กน้อยและไม่มีขนปุกปุย สีขนมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ มีขนสีขาวแต้มบริเวณหน้าอกเรียกว่า สตาร์ ข้อเท้า และปลายหาง อาจจะมีจุดสีขาวเล็กน้อยบริเวณใบหน้า จมูกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมันตกใจ

          สุนัข พุดเดิ้ล แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
          1. พุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 12 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม

          2. พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม

          3. พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18-22 นิ้ว หนักประมาณ 20 กิโลกรัม

          แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของ พุดเดิ้ล ให้เล็กลงไปอีก จนได้ขนาด พุดเดิ้ล น้องใหม่ที่มีชื่อว่า พุดเดิ้ลทีคัพ (Tea-Cup Poodle) เป็นขนาดเล็กที่สุดในตระกูล พุดเดิ้ล จะมีส่วนสูงไม่เกิน 8 นิ้ว และน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ พุดเดิ้ลทีคัพ นี้แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุนัขใดๆ แต่สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยง พุดเดิ้ล แล้วกลับตรงกันข้าม เพราะ พุดเดิ้ลทีคัพ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วและเป็นที่ต้องการอย่างสูง แม้ว่าจะมีราคาค่าตัวที่แพงลิบลิ่ว

          อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล ทั้งหลายที่กล่าวมาจะมีมาตรฐานสายพันธุ์ที่เหมือนกันหมด ทั้งสภาพขน สี นิสัยใจคอ และอื่นๆ จะต่างกันตรงที่ "น้ำหนัก" และ "ความสูง" เท่านั้น

          ถ้าพูดถึงเรื่องนิสัยใจคอของเจ้า พุดเดิ้ล ทุกขนาด จะเป็น สุนัข ที่น่าหยิกน่าหมั่นไส้ แสนประจบ ซน และขี้เล่น พุดเดิ้ล พันธุ์เล็กกับ พุดเดิ้ลทอย จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า และมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล เป็นสุนัขที่ฝึกง่าย สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งคุณก็ควรฝึกสอนตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะเห็นว่ามันมีความสามารถในการทำตามคำสั่งที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ข้อเสียของมันก็คือมันมีนิสัยชอบเห่า แต่คงเพราะตัวเล็กไปหน่อยจึงได้แต่เห่าอย่างเดียว ทำอะไรใครไม่ได้

 อาหารและการดูแล สุนัข พุดเดิ้ล

          อาหารการกินของ สุนัข พุดเดิ้ล ควรให้เป็นอาหารสำเร็จรูปจะดีที่สุด อาหารสำเร็จรูปนั้นมีอยู่หลายสูตรด้วยกัน ได้แก่ อาหารสูตรลูกสุนัข อาหารสูตรสุนัขโต และอาหารสูตรสุนัขแก่ การให้อาหารก็ควรให้ตรงตามอายุและสูตร เนื่องจากสุนัขในแต่ละวัยนั้นมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ลูกสุนัข จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนสูงกว่าสุนัขโต ในขณะที่ร่างกายของสุนัขโตจะต้องการอาหารประเภทพลังงานมากกว่าโปรตีน อย่างนี้เป็นต้น และปริมาณการให้อาหารก็ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะ พุดเดิ้ล จัดเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่กินไม่มาก

       
   นอกจากเรื่องของโภชนาการแล้ว การให้ อาหารสุนัข ยังควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ เจ้าของต้องคอยหมั่นดูแลภาชนะใส่อาหารและสถานที่กินให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ที่พร้อมจะทำร้ายสุนัขของเรา ส่วนในด้านการดูแลความสะอาดของ พุดเดิ้ล จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องหู เพราะ พุดเดิ้ล มีใบหูที่ใหญ่ หนา ห้อยปรกลงมา จึงต้องหมั่นสำรวจดูใบหูบ่อยๆ แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งจะดีมากหากจะหยอดน้ำยาเช็ดหูเข้าไปก่อนประมาณ 5 นาทีเพื่อทำให้สิ่งสกปรกอ่อนตัว และง่ายในการเช็ดออกมา แต่ระวังอย่าแหย่สำลีลึกจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อหูชั้นในได้
          นอกจากนี้ ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญที่พบปัญหา พูเดิ้ล ส่วนใหญ่จะมีร่องน้ำตาที่เห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คราบน้ำตาหรือสิ่งสกปรกไปหมักหมมได้ง่าย เจ้าของจึงควรคอยเช็ดทำความสะอาดให้ทุกวัน เพราะหากทิ้งไว้นานๆ คราบนั้นจะฝังแน่นอย่างถาวร เช็ดไม่ออก นอกจากนั้น ยังควรหมั่นตรวจดูดวงตาของ สุนัข พูเดิ้ล ด้วยว่ามีฝ้าขาวๆ หรือรอยขีดข่วน รอยแผลบ้างหรือไม่
 โรคและวิธีการป้องกัน
          โรคที่มักพบใน พุดเดิ้ล จะคล้ายๆ กับชิสุ คือเรื่องตา เนื่องจากเป็นน้องหมาตาโตแบ๊ว เหมือนๆ กันจึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการระคายเคืองและเป็นโรคตาได้ง่าย แต่สำหรับ พูเดิ้ล แล้วสายพันธุ์ของเขามีที่มีปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้มากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เจ้าของสามารถสังเกตอาการป่วยของพูเดิ้ลเมื่อป่วยด้วยโรคตา สังเกตได้จากเริ่มตาแดง ตาฝ้า บางครั้งจะมีน้ำตาเอ่อ มีขี้ตามากผิดปกติ ชอบเกาตาหรือไถตากับพื้นหรือฝาผนัง ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสุด คือ การเดินชนของ เดินขึ้นบันไดลงบันไดไม่ค่อยถนัด หาชามข้าวไม่พบ เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการเหล่านี้ควรนำมาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างตรงจุด

     
     นอกจากโรคเกี่ยวกับตาแล้ว พุดเดิ้ล ยังมักจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจเป็นโรคประจำกายอีกหนึ่งโรค โรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาการของ สุนัข ที่มีปัญหา โรคหัวใจ จะมีอาการซึมเศร้า  น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด  เป็นลมหมดสติ
          ทั้งนี้ สุนัข พุดเดิ้ล ที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่จะต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ ต้องมีปริมาณเกลือต่ำ

          นอกจากโรคที่กล่าวมานี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถคุกคาม พุดเดิ้ล ตัวโปรดของคุณได้ การได้รับวัคซีนต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญของ สุนัข ทุกพันธุ์ รวมทั้งอาหาร การเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ รวมถึงสุขภาพจิต เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ พูเดิ้ล ของคุณเป็นสุนัขที่ดีพร้อมทั้งร่างกายและอารมณ์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


- poodlethai.com
- dog.honda.co.th

ชิสุ

หลงใหลได้ปลื้มเจ้าสุนัขพันธุ์ "ชิสุ" และเลี้ยงเป็นสมาชิกสี่ขาประจำครอบครัวกันอย่างแพร่หลาย แต่รู้ไหมว่าประวัติความเป็นมาของ สุนัข ชิสุ น่ะ เป็น ถึง 1 ใน 3 สุนัข ชั้นสูงจากจักรพรรดิจีนเชียวนะ
           ทั้งนี้ บรรพบุรุษของ สุนัข ชิสุห์ นั้น มีการคาดเดาว่ามีต้นกำเนิดจากทิเบต เนื่องจากตามประวัติศาสตร์ของชาวทิเบตถือว่าสิงโตเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อทางศาสนา พระชาวทิเบต (Lama) จึงได้ผสม สุนัข พันธุ์เล็กขึ้นมาให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับสิงโต ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าลักษณะขนแผงคอของ ชิสุ จะเหมือนกับสิงโต อีกทั้งท่าทางการเดินหรือการเคลื่อนไหวก็แลดูสง่างาม และชื่อ "ชิสุ" (Shih Tzu) ซึ่งเป็นคำในภาษาจีน ก็แปลว่า สิงโต ด้วย

           ต่อมาทิเบตได้ส่ง สุนัข ชิสุ มาเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิราชวงศ์ชิง ราชวงศ์สุดท้ายของจีน  ซึ่งพระนางซูสีไทเฮา ทรงโปรดการเลี้ยง สุนัข มาก โดยมี สุนัข พันธุ์ปักกิ่ง ปั๊ก และชิสุ ที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากพระองค์ ชนิดหรูหราและฟุ่มเฟือย ในอดีตจึงเป็นที่รู้กันดีว่า ชิสุ เป็น สุนัข ที่มีชนชั้น  นิยมเลี้ยงกันเฉพาะในราชสำนักของและนับเป็นสิ่งสูงค่าสำหรับสามัญชน 
           ในปี ค.ศ.1908  เมื่อพระนางซูสีไทเฮาสิ้นพระชนม์ สุนัข ชิสุ ทรงเลี้ยงในพระราชวังก็กระจัดกระจายหายไป แต่ก็มี ชิสุ บางส่วนที่ถูกลักลอบนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ ทำให้ ชิสุ ขยายพันธุ์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในอังกฤษ และทั่วยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเป็นสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันถึงปัจจุบัน  เนื่องจาก ชิสุ เป็น สุนัข พันธุ์เล็ก อีกทั้งมีของลักษณะขนและหน้าตา ที่จะสร้างความเพลิดเพลินในการเลี้ยงดูของเจ้าของที่ชอบแต่งตัวให้ สุนัข แต่คงไม่เหมาะนักสำหรับเจ้าของที่ไม่มีเวลา
ลักษณะทั่วไปของ สุนัข ชิสุ
           ชิสุ เป็น สุนัข ขนาดเล็กในกลุ่มทอย (Toy Group) มีน้ำหนักประมาณ 4.5 - 7.5 กิโลกรัม (หรือราว 10 - 16 ปอนด์) ส่วนสูงประมาณ 25 - 27 ซม. (หรือราว 10 - 11 นิ้ว) ทั้งนี้ ชิสุ มีลักษณะนิสัย กล้าหาญ มีความตื่นตัว ขี้ประจบ มีความสง่าอยู่ในตัว เดินหน้าเชิด การย่างก้าวสง่าผ่าเผย นอกจากนี้ ชิสุ ยังรักความสะอาด เป็นมิตรกับทุกคน ปรับตัวได้ดี และชอบที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ กับเจ้าของในทุกเรื่อง แล้วก็ไม่ชอบถูกทิ้งไว้ในบ้าน

           ข้อบกพร่องของสายพันธุ์ ชิสุ
           ข้อบกพร่องของ ชิสุห์ ที่จัดว่าร้ายแรงตามมาตรฐานของ AKC : American Kennel Club (สมาคมสุนัขแห่งสหรัฐอเมริกา) ที่ยอมรับกันทั่วโลก มีดังนี้

            - ศีรษะแคบเกินไป
            - ฟันบนเกยฟันล่าง
            - ขนสั้น หรือขนที่ได้รับการขลิบให้สั้น
            - จมูกหรือหนังบริเวณขอบตาสีชมพู
            - ดวงตามีขนาดเล็กหรือมีสีจาง
            - ขนบาง ไม่ดกหนา
            - มุมหักตรงช่วงรอยเชื่อมระหว่างจมูกและหน้าไม่เด่นชัด
อาหารและการเลี้ยงดู สุนัข ชิสุ

           ชิสุห์ มีอายุค่อนข้างยืนยาว คือประมาณ 10-18 ปี ตามแต่ปัจจัยต่างๆ เช่น อาหาร และการเลี้ยงดู โรคที่มักเกิดขึ้นกับ ชิสุ คือโรคตาแห้ง โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ โดยเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาและหูของ ชิสุ อย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดของมันโดยเฉพาะ ส่วนโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับ ชิสุ ได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต และไส้เลื่อน

           ปกติ ชิสุห์ จะเป็นมิตรกับคน นิ่งและดูสงบ ดูจะเป็น สุนัข อารมณ์ศิลปินซะด้วย หลายครั้งที่พบว่า ชิสุ จะไม่เชื่อฟังเราถ้ามันไม่อยากทำซะอย่าง อย่างไรก็ตาม ชิสุ ก็ชอบวิ่งและรักความสนุกซึ่งเจ้าของจำเป็นจะต้องพามันออก ไปวิ่งออกกำลังกายบ้าง

           นอกจากนี้ ขนเป็นส่วนประกอบสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดความสวยงามของ ชิสุ โดยเฉพาะ ชิสุห์ เป็น สุนัข ขนยาว ที่จะต้องดูแลมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีขนเส้นเล็กและพันกันได้ง่าย หากไม่รู้จักวิธีการรักษาขนให้ดี ขนของ ชิสุ จะพันกันและมีโอกาสเป็นโรคผิวหนังได้ง่ายๆ 
           ทั้งนี้ การแปรงขนอย่างสม่ำเสมอทุกวันจะช่วยให้ผิวหนังและขนสะอาดของ ชิสุ เป็นเงางาม เพราะมีการนวดให้ต่อมน้ำมันที่โคนขนขับน้ำมันออกมาเคลือบเส้นผมได้มากขึ้น ทำให้ผิวหนังมีสุขภาพสมบูรณ์ และยังเป็นการช่วยขจัดรังแคและสิ่งสกปรกอื่นออกจากผิวหนังของ ชิสุ ด้วย

           อาหารที่เหมาะกับเจ้า ชิสุ สุดสวย ควรเป็นอาหารเม็ดมากกว่าอาหารกระป๋อง เพราะ สุนัข มีขนยาว หากให้กินอาหารกระป๋องจะทำให้เลอะหนวดเครา เหม็นคาว ทำให้ต้องทำความสะอาดกันทุกครั้งไป และหากล้างออกไม่หมดก็จะกลายเป็นที่สะสมของเชื้อโรค อีกทั้งถ้าให้อาหารกระป๋องต้องใช้ให้หมดในคราวเดียว ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงต่อสุขภาพของ  ชิสุ ของคุณได้
           ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะที่สุดเห็นจะเป็นอาหารเม็ด ทั้งนี้ การเลือกซื้อควรเลือกประเภทสำหรับ สุนัข พันธุ์เล็ก  โดยเลือกดูให้เหมาะกับช่วงวัยของ ชิสุ ด้วย เช่น ถ้าเป็นอาหารลูก สุนัข ข้างถุงจะพิมพ์ไว้ว่า Puppy มีโปรตีนมากกว่า เม็ดจะเล็กกว่า และจะแพงกว่าอาหาร สุนัข โตนิดหน่อย

           อย่างไรก็ตาม อาหารปรุงเองก็สามารถให้ ชิสุ ได้ แต่ควรดูความเหมาะสมของสารอาหารที่ให้ และการสร้างอุปนิสัยที่ดี  เพราะหากให้กินพร่ำเพรื่อ สุดท้ายเจ้า ชิสุ ตัวโปรดของคุณก็จะติดนิสัยขออาหารที่ครั้งที่เห็นคนกิน ดังนั้นต้องใจแข็งไว้นะคะ ควรให้อาหารเป็นเวลาจะดีกว่า แล้ว ชิสุห์ ของคุณไม่มีปัญาหาสุขภาพตามมาด้วย
โรคและวิธีการป้องกัน

            โรคตาแห้ง เป็นโรคที่มักเกิดกับ สุนัข ชิสุห์ เพราะมีดวงตากลมโต ลูกตาเปิดกว้าง ทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุกับดวงตาด้วย ทั้งนี้ อาการของโรคตาแห้ง คือน้ำตาน้อย ก็ต้องรักษาด้วยการหยอดตาต่อเนื่อง อาจจะนานๆ ครั้ง หรือไม่ก็ตลอดชีวิต สำหรับการดูแลรักษา อย่างแรกเลยผู้เลี้ยง ควรเจ้าของควรหมั่นทำความสะอาดตาอย่างสม่ำเสมอด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะ และเมื่อเห็นความผิดปกติของลูกตาให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะ ถ้าทิ้งไว้นาน อาจทำให้ติดเชื้อ แก้วตาละลาย ถึงขั้นตาบอดได้ อีกอย่างถ้าพามาตั้งแต่แรกเริ่มก็จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่สูงมากนัก

           โรคหูน้ำหนวก หูอักเสบ ส่วนใหญ่เป็นการอักเสบของช่องหูภายนอกที่เรียกว่า "otitis externa" เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาการของ สุนัข ชิสุ ที่ป่วยหูอักเสบ ได้แก่ มีกลิ่นเหม็น ชอบเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม ในบางตัวอาจมีสิ่งคัดหลั่งออกมาจากช่องหู ฯลฯ

           สำหรับวิธีการป้องการที่ดีที่สุด คือการรักษาความสะอาด ควรตรวจสอบช่องหูของ สุนัข ชิสุห์ ทุกสัปดาห์ สุนัข บางตัวมีขี้หูน้อย บางตัวก็มีมาก แตกต่างกันไป ควรใช้สำลีหรือผ้านิ่มๆ เช็ดบริเวณรูหูส่วนนอก และใบหูเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ถ้าพบว่า สุนัข ของคุณสะบัดหู หรือเกาหูบ่อย ก็ให้นำไปพบสัตวแพทย์ เพราะอาจมีแมลงเข้าหูหรืออาจเกิดโรคหูอักเสบขึ้น

           นอกจากนี้ ชิสุห์ ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคนิ่ว โรคไต โรคผิวหนัง และไส้เลื่อน ทางที่ดีผู้เลี้ยงควรฉีดวัคซีนให้ สุนัข ตามกำหนดให้ครบ และใส่ใจเรื่องอาหาร และการออกกำลังกาย และหากผิดความผิดปกติใดๆ ก็ตามควรรีบพา สุนัข แสนรักไปพบแพทย์เพื่อได้รรับการวินัจฉัยและการรักษาที่ตรงจุดต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- kapank.com
- lovedoghouse.com
- vet4polyclinic.com
- vet.ku.ac.th- คู่มือการเลี้ยงสุนัขชิสุ โดย อ.บัณฑิตย์ สุริยพันธ์

หนูแฮมสเตอร์

รู้จักสายพันธุ์ เจ้าหนูแฮมสเตอร์

          หนูแฮมเตอร์ (Hamster Rat) แบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ ได้ 2 ชนิด คือ

          1. แฮมสเตอร์ไม่แคระ คือ พันธุ์ Syrian บางคนก็เรียกว่า Golden Hamster
          2. แฮมสเตอร์แคระ คือพันธุ์ Winter White, พันธุ์ Campbells, พันธุ์ Chinese และ พันธุ์ Roborovski

Winter White กับ Campbells

          แฮมสเตอร์พันธุ์ Winter White และ พันธุ์ Campbells จะมีลักษณะคล้ายกันมาก จนแยกได้ค่อนข้างยาก ว่าเป็นพันธุ์อะไร โดยเฉพาะ Campbells สีธรรมดา และ Winter White สีธรรมดา จะดูยากมาก

          ทั้งนี้ หนูแฮมสเตอร์พันธุ์ Campbells และพันธุ์ Winter White มีความคล้ายกันมาก เดิมนักวิทยาศาสตร์ เคยจัด Campbells และ Winter White เป็น สปีชีย์ เดียวกัน แต่ต่อมาก็ได้พบความแตกต่าง ของทั้ง 2 พันธุ์นี้ และได้แยกทั้ง 2 พันธุ์นี้ออกจากกันเป็นคนละสปีชีย์ โดยจัด Winter White เป็นสปีชีย์ Sungorus ส่วน Campbell เป็นสปีชีย์ Campbell

          อย่างไรก็ตาม แม้จะดูภายนอกคล้ายกัน แต่ทั้ง 2 พันธุ์นี้จะแตกต่างกัน จึงไม่ควรจะนำมาผสมข้ามพันธุ์กัน ว่ากันว่า 2 พันธุ์นี้ สามารถจะผสมกันได้ เพราะมีความใกล้เคียงกันสูง จำนวนโครโมโซมก็เท่ากัน แต่ไม่แนะนำให้ผสมข้ามพันธุ์ เพราะจะทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสพิการ หรือผิดปกติสูง

แล้วเวลาซื้อ จะรู้ได้อย่างไร ว่าตัวไหนเป็น Campbells หรือ Winter White

           ที่พอจะสังเกตุข้อแตกต่างได้ ก็คือ Campbells จะมีลายพาดบนหลังเส้นเดียวชัดเจนกว่า ส่วนลายด้านข้างๆ ก็จะไม่ชัดเท่า Winter White  แต่ไในเมืองไทยตอนนี้สายพันธุ์ Campbells ยังไม่แพร่หลายมากนัก แม้จะมีการนำเข้ามาบ้างแล้ว แต่เท่าที่เห็นก็มีเพียงสีขาวตาแดงเท่านั้น จึงดูง่าย ไม่สับสน

          แฮมสเตอร์แต่ละสายพันธุ์ จะมีนิสัยที่แตกต่างไปอีกด้วย เช่น Syrian จะเป็นแฮมสเตอร์ที่รักสันโดษ มักจะกัดกัน แต่แฮมสเตอร์แคระ จะสามารถอยู่รวมกันเป็นคู่ หรือหลายตัวได้ แต่ก็มักจะมีการกัดกันบ้างเหมือนกัน เช่น เมื่อมีหนูตัวอื่นบุกรุกมาในถิ่นของตน เป็นต้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก freeinfosociety.com, worldofpet.blogspot.com, wikimedia.org, flickr.com

บีเกิ้ล

 บีเกิ้ล (Beagle) เป็นสุนัขมีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ จัดอยู่ในจำพวกกลุ่มสุนัขล่าเนื้อ(Hound) มีขนสั้นและหูปรก เป็นสุนัขที่มีประสาทด้านการดมกลิ่นเป็นเลิศ (scent hounds) ถูกพัฒนาสายพันธ์ขึ้นมาคเพื่อเป็นผู้ช่วยมนุษย์ ในกีฬาการล่าต่างๆ โดยเฉพาะการล่ากระต่าย เนื่องจากบีเกิ้ลมีประสาทด้านการดมกลิ่นที่ไวมาก จึงได้มีการฝึกให้เป็นสุนัขตรวจสอบของผิดกฎหมาย อย่างเช่น ยาเสพติด วัตถุระเบิด ฯลฯ

    ขณะเดียวกันบีเกิ้ลก็ได้รับความนิยมในฐานะสัตว์เลี้ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากมีขนาดตัวที่พอเหมาะ เป็นสุนัขอารมณ์ดี และสุขภาพแข็งแรงออกแนวอึด ทนทานต่อโรค ด้วยคุณสมบัตินี้เอง บีเกิ้ลยังถูกใช้ในงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์อีกด้วย ทั้งนี้ สุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลมีมากว่า 2,000 ปีแล้ว และมีชื่อเสียงมากในยุคของพระนางอลิซาเบท (Elizabethan era) ซึ่งปรากฏในงานวรรณกรรม จิตรกรรม ภาพยนตร์ โทรทัศน์ และหนังสือการ์ตูนเรื่องสนู๊ปปี้ (Snoopy) ซึ่งสนู๊ปปี้ถือเป็นบีเกิ้ลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก

          ในปี ค.ศ.1985 ได้มีการทำการศึกษาบีเกิ้ล พร้อมกับสุนัขพันธุ์อื่นๆ อย่าง ยอคเชียร์ เทอเรีย(Yorkshire Terrier) เคนท์ เทอเรีย (Cairn Terrier) เวส ไฮด์แลนด์ ไวท์ เทอเรีย (West Highland White Terrier) ฟอกซ์ เทอเรีย(Fox Terrier) ซึ่งผลออกมาว่า บีเกิ้ลเป็นสุนัขที่ฉลาด และเป็นสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนามาด้วยจุดประสงค์เดียว คือให้เป็นนักล่ามาเป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ฝึกค่อนข้างยาก โดยทั่วไปเมื่อมันรับคำสั่งแล้ว จะสั่งยกเลิกได้ยาก และเมื่อมันจดจำกลิ่นหนึ่งได้ มักจะถูกกลิ่นอื่นรอบตัวเบี่ยงเบนความสนใจได้ง่าย พวกมันจะไม่ค่อยยอมรับคำสั่งทั่วๆ ไป แต่ก็มีการตอบสนองต่ออาหารที่ดี มีความตื่นตัวสูง ช่างประจบ ในทางกลับกันก็เป็นสุนัขที่เบื่อง่าย
   ปัจจุบันบีเกิ้ล ได้รับการเลือกเป็นหนึ่งในสุนัขดมกลิ่น ที่ใช้ตรวจสอบหาวัตถุต้องสงสัย ในงานด้านความมั่นคง และทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ (Beagle Brigade) บีเกิ้ลกับบทบาทด้านความมั่นคงในการตรวจสอบตามสนามบิน ซึ่งในปีหนึ่งๆ สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจพบวัตถุผิดกฎหมาย ได้ถึง 75,000 รายการต่อปี อีกเหตุผลหนึ่งที่บีเกิ้ลได้รับเลือกในหน้าที่นี้ เพราะว่าบีเกิ้ลมีขนาดตัวที่ค่อนข้างเล็ก สามารถเข้าไปตรวจได้แม้กระทั่งคนที่ค่อนข้างกลัวสุนัข ดูแลง่าย ฉลาด และมันทำงานเต็มที่เพื่อรางวัล ซึ่งในหลายประเทศก็ได้มีการ ใช้งานบีเกิ้ลในลักษณะนี้อย่างกว้างขวาง ส่วนสุนัขดมกลิ่นขนาดใหญ่ ก็จะใช้ในงานค้นหาวัตถุระเบิดโดยเฉพาะ และงานที่จำเป็นต้องปีนป่ายเพื่อเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งบีเกิ้ลไม่ค่อยเหมาะกับหน้าที่ลักษณะนั้น

ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมทั่วไป

          บีเกิ้ลเป็นสุนัขที่สุภาพ พวกมันค่อนข้างเป็นมิตร ไม่ดุร้ายเกินไปหรือเฉื่อยชาเกินไป ชอบอยู่กันเป็นกลุ่ม แต่มันก็เชื่องคนง่ายเกินจึงไม่เหมาะที่จะเป็นสุนัขเฝ้าบ้าน ทว่ามันยังคงเห่าหรือหอนบ้าง เมื่อเผชิญหน้ากับคนแปลกหน้า

          นอกจากนี้ บีเกิ้ลยังเป็นสุนัขที่เหมาะกับเด็กๆ เข้ากับเด็กๆ ในบ้านดีๆ ไม่พบประวัติการทำร้ายเด็ก บีเกิ้ลจึงเป็นสุนัขที่นิยมเลี้ยงกันในครอบครัว และบีเกิ้ลยังเข้ากับสุนัขสายพันธุ์อื่นได้ง่าย พวกมันแข็งแรงมาก จึงวิ่งเล่นได้นานโดยที่ไม่เหนื่อยง่ายๆ อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติพวกมันเป็นสุนัขที่อยู่เป็นฝูง เวลานำไปเลี้ยงเดี่ยวจึงอาจเกิดอาการซึมเศร้าได้ และแม้ว่าบีเกิ้ลจะมีพลังเห่าหอนอันรุนแรง แต่ไม่ใช่บีเกิ้ลทุกตัวที่จะหอน แต่ส่วนมากจะเห่าเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งบางตัวจะเห่าหรือหอน เมื่อรับรู้ถึงกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ


อาหารและการเลี้ยงดู

          แม้ว่าสุนัขสายพันธุ์นี้จะมีขนาดเล็ก แต่ด้วยเหตุที่จุดประสงค์ดั้งเดิมที่เค้าถูกพัฒนาขึ้นมาคือการเป็นสุนัข สำหรับล่าสัตว์ ทำให้พวกเค้ามีพลังงานในตัวมากและชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นอย่างยิ่ง ผู้เลี้ยงจึงควรพาไปออกกำลังกายบ้างอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น และหากคุณอาศัยอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่มีบริเวณกว้างขวางนัก อย่างเช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ คุณก็จะต้องพิจารณาให้ดีว่าคุณพอมีเวลาและมีสวนสาธารณะใกล้เคียงที่คุณสามารถพาเค้าไปเดินเล่นออกกำลังได้หรือไม่

          อย่างไรก็ดี สุนัขเหล่านี้ต้องอยู่ในบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด เพราะพวกมันช่างไม่มีสัญชาตญาณในการระวังภัยบนท้องถนนเอาเสียเลยและมักมีความเข้าใจอย่างผิดๆ ว่ารถทุกคันจะหยุดรอให้พวกมันไปก่อน

          ด้านการดูแลทำความสะอาดให้สุนัขขนสั้นอย่างบีเกิ้ลนั้นแสนง่าย แค่อาบน้ำให้อาทิตย์ละครั้งก็เพียงพอ จากนั้นก็เช็ดหรือเป่าตัวให้แห้งพร้อมๆ กับแปรงขนไปด้วย หรือถ้าไม่สกปรกมากอาจใช้แค่ผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดตัวให้ก็ได้ ส่วนเรื่องการแปรงขนให้บีเกิ้ลสามารถทำได้โดยง่าย เนื่องจากว่าเค้ามีขนสั้นและสีเข้ม ซึ่งควรแปรงขนทุกๆ 3-4 วัน เพื่อกำจัดเส้นขนที่ตายแล้วออกไปและช่วยเพิ่มความเงางามแข็งแรงแก่เส้นขน

          ส่วนเรื่องอาหารการกิน หากเราต้องการให้เค้ามีสุขภาพแข็งแรง เติบโตสมวัย ก็ต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มาก ซึ่งวิธีการให้อาหารแก่บีเกิ้ลที่ถูกต้องก็มีดังนี้

           บีเกิ้ลอายุระหว่าง 2-3 เดือน ควรให้อาหารเม็ดวันละ 4 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย (ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง) โดยอาจใช้ถ้วยกาแฟขนาดเล็กตวง ผสมกับอาหารกระป๋อง 1 ช้อนโต๊ะ คลุกเคล้าให้ทั่ว

          บีเกิ้ลอายุระหว่าง 3-4 เดือน ควรให้อาหารเม็ดวันละ 3 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย (ทุกๆ 6-8 ชั่วโมง) ผสมอาหารกระป๋อง 1 ช้อนโต๊ะ

          บีเกิ้ลอายุระหว่าง 4-12 เดือน ควรปรับมาให้อาหารเม็ดวันละ 2 มื้อ มื้อละ 1 ถ้วย หรืออาจจะมากน้อยกว่านั้นเล็กน้อย โดยให้สังเกตดูรูปร่าง ถ้าท้องป่องมากเกินไปควรลดจำนวนอาหารแต่ละมื้อลงบ้าง และต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับระดับการออกกำลังกายของเค้าด้วย หากบีเกิลของคุณมีโอกาสออกกำลังกายน้อย ปริมาณอาหารที่ให้ก็ควรปรับลดลง

          เมื่อบีเกิ้ลอายุครบ 12 เดือนขึ้นไป สามารถลดปริมาณการให้อาหารเหลือวันละ 1 มื้อ มื้อละ 1-1/2 ถ้วย ก็เพียงพอแล้ว

          นม ไม่จำเป็นต้องให้นมลูกสุนัขอีกหลังจากอายุครบ 2 เดือนขึ้นไป เพราะเมื่ออายุพ้น 2 เดือนแล้วเค้าจะสามารถหาแคลเซียมทดแทนจากการกินอาหารสำเร็จรูปได้

          อาหารเสริม สำหรับบีเกิลป่วยอาจให้อาหารเสริมบ้าง แต่ไม่มีความจำเป็นต้องให้อาหารเสริมในยามที่เค้ามีสุขภาพปกติ

          อาหารคน ไม่ควรให้อาหารของคนกับบีเกิ้ลโดยเด็ดขาด เพราะเค้าอาจติดใจรสชาติ กลิ่นของอาหารคน และไม่อยากกินอาหารเม็ดอีกต่อไป นอกจากนั้นการให้อาหารสดยังอาจทำให้เค้าได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับมากเกินไปจนทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมาภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อเค้าอายุมากขึ้น เช่น ปัญหาด้านการเจริญเติบโต ปัญหาสุขภาพขน การให้อาหารสดอาจให้บ้างเล็กน้อยเพื่อใช้เป็นรางวัลสำหรับการฝึกเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นจำพวกตับ ไส้กรอก แฮม หรือชีส ก็ได้)

          ห้ามให้สุนัขกิน ช็อกโกแลตและหัวหอม เป็นอันขาด เพราะอาจทำให้สุนัขเป็นอันตรายถึงตายได้

เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับบีเกิ้ล
 
          ความสูงมากที่สุดของบีเกิ้ลที่ได้รับการยอมรับในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ 15 นิ้ว ขณะที่ในประเทศอังกฤษคือ 16 นิ้ว

          สุนัขสายพันธุ์บีเกิ้ลจะไม่มีน้ำลายไหลเยิ้ม ไม่ค่อยมีกลิ่นสาบ และผลัดขนน้อยมาก

          Lyndon B. Johnson ประธานาธิบดีคนที่ 36 แห่งสหรัฐอเมริกา เลี้ยงสุนัขบีเกิลจำนวน 3 ตัว ชื่อว่า Him, Her และ Edgar

          ตัวการ์ตูนสนูปปี้ (Snoopy) จากการ์ตูนชุด Peanuts ของ Charles M. Schulz ก็มีต้นแบบมาจากสุนัขสายพันธุ์บีเกิล

แมวเปอร์เซีย

แมวเปอร์เซีย ถือเป็นราชินีแมวจากแดนตะวันออกกลางที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะเป็นแมวขนยาว หน้าตาน่าเอ็นดู หัวกลมสวย ตากลมโต มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ รวมถึงหน้าตาก็มีหลายแบบ มีอุปนิสัยอ่อนโยน เข้ากับคนง่าย ร่าเริงซุกซน ชอบประจบประแจง และมีไหวพริบ ซึ่งแมวพันธุ์นี้นับเป็นแมวต่างประเทศที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นพันธุ์แรกด้วย

           แมวเปอร์เซียมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบเปอร์เซีย หรือประเทศตุรกี และอิหร่านในปัจจุบัน โดยในปี ค.ศ. 1684 ได้มีการบันทึกลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับที่มาของ แมวเปอร์เซีย หรือแมวเปอร์เซียน (Persian Cats) ว่า พ่อค้าทะเลทราย (หรือที่เรียกว่ากองคาราวาน) ทางแถบๆ ตะวันตกของตุรกีและอิหร่าน มักบรรทุกสินค้ามากมาย อาทิเครื่องเทศน์ อัญมณี และสินค้ามีค่าอื่นๆ ซึ่งบางครั้งก็มีแมวขนยาวติดมาด้วย แมวขนยาวนั้นถูกซื้อโดยกะลาสีและได้นำแมวติดไปกับเรือสินค้าเดินทางเข้าทวีป ยุโรป ซึ่งหลายปีต่อมาแมวพันธุ์นั้นถูกรู้จักในชื่อ เตอร์กิส แองโกร่า (Turkish Angora)

           ต่อมาในปลายศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษเริ่มผสมพันธุ์แมวเตอร์กิส แองโกร่า กับแมวสายพันธุ์อื่น และพัฒนาจนได้แมวที่มีขนหนาและยาวกว่าเดิม กระทั่งในที่สุดแมวพันธุ์นี้ก็ได้รับการยอมรับและจดทะเบียนขึ้นที่ประเทศอังกฤษในชื่อว่า Longhair ซึ่งชื่อของมันก็ถูกตั้งขึ้นตามประเทศต้นกำเนิดนั่นเอง

           นอกจากประเทศอังกฤษแล้ว แมวเปอร์เซียยังถูกนำไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและอเมริกามานานหลายร้อยปี ซึ่งอเมริกาจะเรียกแมวพันธุ์นี้ว่า Persian

ลักษณะสายพันธุ์

           แมวเปอร์เซีย เป็นแมวที่มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีกระดูกที่ใหญ่และแข็งแรง หัวและหน้ากลม หน้าผากโหนก แก้มเต็ม ดวงตากลมโต และอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน มีจมูกที่หัก กล่าวคือ สังเกตได้ชัดเจนเมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นจุดหักระหว่างจมูกกับหน้าผากชัดเจน เมื่อมองจากด้านหน้าจะเห็นเป็นขีดอยู่ระหว่างดวงตา

           สำหรับแมวเปอร์เซียที่มีลักษณะตรงตามมาตรฐานสายพันธุ์ ควรจะมีจมูกอยู่ในระดับเดียวกับตา โครงสร้างลำตัวสั้น ขาสั้นเตี้ย หูเล็กมีปลายหูที่กลมมน และอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกัน หางสั้นและตรง ไม่มีรอยหัก ขนยาวฟู มีท่วงท่าการเดินดูสง่างาม ทั้งนี้ แมวเปอร์เซียในสมัยแรกๆ มีรูปร่างหน้าตาที่ต่างจากแมวเปอร์เซียในปัจจุบันมากทีเดียว ปัจจุบันมันถูกพัฒนาให้มีรูปร่างที่สั้นขึ้น ขนยาวขึ้น ถูกเปลี่ยนแปลงโครงร่างให้ใหญ่และกลม จมูกสั้นและหักมากขึ้น

           อย่างไรก็ตาม แมวเปอร์เซียถูกแบ่งออกเป็น 7 ชนิด โดยแบ่งตามสี และลักษณะเป็นหลัก ดังนี้

           1.Solid colour  ขนจะเป็นสีเดียวตลอดตัว ไม่ควรมีสีอื่นแซมเลย สีจะต้องเสมอกันตลอด เช่น white ขนสีขาวบริสุทธิ์, blue ขนสีเทาเข้ม, black สีขนดำสนิท, red ขนสีแดงเข้มและสดใส, cream ขนสีครีมเข้ม, chocolate ขนสีน้ำตาสช็อกโกแลต, lilac ขนสีลาเวนเดอร์

           2.Sliver&Golden ตาจะเป็นสีเขียวหรือสีเขียวอมน้ำเงินเท่านั้น

            3.Shade&Smoke จะมีสีขน 3 แบบ คือแบบ Shell จะมีสีที่ปลายขนเพียงเล็กน้อย แบบ Shade จะมีส่วนที่เป็นสีมากกว่า และแบบ Smoke จะมีสีมากกว่าแบบ Shade

            4.Tabby จะมีลวดลายที่เป็นที่ยอมรับอยู่ 2 แบบ คือ Classic และ Mackerel

           5.Parti-colour จะเกิดขึ้นเฉพาะเพศเมียเท่านั้น อันสืบเนื่องมาจากการสืบทอดทางโครโมโซม

           6.Calico & Bi-Color สีทั่วไปตาจะเป็นสีทองแดง ถ้าเป็นตาสองสีตาข้างหนึ่งจะเป็นสีฟ้า อีกข้างเป็นสีทองแดง ความเข้มของสีตาทั้งสองข้างเท่าๆ กัน

           7.Himalayan เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างแมวไทยวิเชียรมาสกับแมวเปอร์เซีย จะมีลักษณะแต้มสีตำแหน่งเดียวกับแมววิเชียรมาส คือหูทั้งสองข้าง ที่หน้าครอบเหมือนหน้ากาก ขาทั้งสี่ ตาสีฟ้าสดใส

อาหารและการเลี้ยงดู

           อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า แมวเปอร์เซียเป็นแมวสายพันธุ์ต่างประเทศ ค่าเลี้ยงดูและค่าตัวอาจแพงสักหน่อย ทั้งนี้ ราคาของแมวเปอร์เซีย มีตั้งแต่หลักพันถึงหลักแสน ขึ้นกับเกรดของสายพันธุ์ สามารถแบ่งได้เป็น

           เกรดเพ็ด(PET Quality) ส่วนมากเป็นแมวที่เลี้ยงตามบ้านทั่วไป ราคาประมาณ 5,000-15,000 บาท จมูกยาว หน้าไม่บี้ หรือเรียกว่าหน้าตุ๊กตา

           เกรดทำพันธุ์และโชว์(Breed and Show Quality) ส่วนมากเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เลี้ยงไว้เพื่อประกวด หรือโชว์ มีลักษณะของแมวเปอร์เซียที่ดีครบ โดยหน้าจะบี้ คือ จมูกและตาเกือบเสมอกัน

           นอกจากนี้ ระดับของราคายังแบ่งเป็นสายพันธุ์ในประเทศอยู่ที่ 25,000-35,000 บาท สายพันธุ์นำเข้า 35,000-100,000 บาท หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับสุขภาพของแมว และลักษณะเด่นตามสายพันธุ์

           เมื่อตัดสินใจจะเลี้ยงแมวพันธุ์นี้แล้ว จงพึงระลึกไว้เสมอว่า การดูแลขนของแมวเปอร์เซียเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ผู้เลี้ยงต้องหมั่นทำความสะอาดถึงการแปลงและสางขนแมวอย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันการเกิดขนพันกัน เพราะการที่ขนพันกันเป็นกระจุกนั้นจะเป็นแหล่งเพาะเชื่อโรครวมทั้งพยาธิต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบและเป็นที่อยู่ของเห็บหมัดอีกด้วย

           ในเรื่องของอาหารการกินนั้น ควรเลือกอาหารที่ช่วยให้ทางเดินอาหารของแมวไม่อุดตัน เนื่องจากแมวเปอร์เซียจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเลียทำความสะอาดขน อันเป็นสาเหตุในการกินหรือกลืนเส้นขนเข้าไปเป็นจำนวนมาก หากเส้นขนจะไปรวมตัวกันในช่องท้องจะทำให้แมวเปอร์เซียสำรอกหรือเกิดปัญหาของระบบย่อยอาหารได้

โรคและวิธีการป้องกัน

           โรคที่พบบ่อยในแมวเปอร์เซียนั้นส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นและถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคหายใจขัด หอบ หรือ ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นต้น นอกจากนี้ แมวเปอร์เซียที่มีสีขาวรวมถึงแมวเปอร์เซียที่มีตาสีฟ้าหรือตาข้างละสีมักมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด คือ หูหนวก อีกด้วย

           อย่างไรก็ตาม โรคท่อน้ำตาอุดตัน และปัญหาคราบน้ำตา เป็นปัญหาที่พบบ่อยและถูกถามถึงมากที่สุด อาการที่พบ คือ มีน้ำตา ไหลในตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ไม่มีอาการหรี่ตา น้ำตาที่ไหลออกมาเป็นน้ำตาใสๆ ร่วมกับมีคราบติดบริเวณร่องจมูก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียในท่อน้ำตา เนื่องจากท่อน้ำตาและโพรงจมูกของแมวเปอร์เซียคดไปคดมา

           เมื่อเจ้าเหมียวของคุณประสบปัญหานี้เข้า การแก้ปัญหาเบื้องต้น ผู้เลี้ยงอาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเคอยเช็ดคราบน้ำตาเป็นประจำ เพราะหากปล่อยไว้จนแห้ง อาจเช็ดไม่ออก หมดสวยหมดหล่อไม่รู้ด้วยนะคะ

           แต่ถ้าหากมีคราบน้ำตามเยอะและข้นกว่าปกติ อาจต้องใช้ยาป้ายตาร่วมกับการเช็ดคราบน้ำตา หรืออาจพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อล้างท่อน้ำตา และทำการรักษาต่อไป